หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อเท้าแพลง อย่ามองข้าม

ข้อเท้าแพลง
ในชีวิตประจำวันหลาย ๆ คนคงเคยข้อเท้าพลิก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและบวมของข้อเท้า ซึ่งเราเรียกอาการนี้ว่า “ข้อเท้าแพลง” ข้อเท้าแพลงเป็นการบาดเจ็บที่พบได้บ่อย สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในนักกีฬาหรือพวกที่ใช้ข้อเท้ามากกว่าปกติ นอกจากนี้การเดินบนพื้นที่ไม่เรียบ การลงจากที่สูงมาสู่ที่ต่ำ การกระโดด หรือแม้แต่การใส่รองเท้าส้นสูงต่างก็ล้วนเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าแพลง
สาเหตุ
เกิดจากมีการบิด หมุน หรือพลิกของข้อเท้าจนเกินช่วงการเคลื่อนไหวที่ปกติ ทำให้เอ็นยึดข้อต่อถูกยืดออกมากจนเกินไปจึงเกิดการบาดเจ็บขึ้น มีอาการปวดและบวมตามมา หากรุนแรงมากอาจส่งผลให้เอ็นขาด สูญเสียความมั่นคงของข้ออีกทั้งยังอาจได้ยินเสียงดัง “กร๊อบ” ในข้อเท้าได้ด้วย
เส้นเอ็นที่ได้รับบาดเจ็บและพบบ่อยที่สุดคือ ชื่อ calcaneo-fibular ligament(ตามภาพ) เป็นเอ็นที่อยู่ทางด้านข้างของข้อเท้า ทำหน้าที่ยึดข้อเท้าทางด้านข้างให้มีความมั่นคง และเมื่อเอ็นเส้นนี้ได้รับบาดเจ็บจะเป็นเหตุให้ข้อเท้าขาดความมั่นคงขณะยืนลงนํ้าหนัก และเป็นที่น่าสังเกตอยู่อีกอย่างหนึ่งคือ ในรายที่เป็นข้อเท้าแพลงและรักษาจนหายเป็นปกติดีแล้ว พบว่ามักเกิดข้อเท้าแพลงซํ้าได้ง่ายกว่าปกติ นั่นเป็นเพราะว่า ในเส้นเอ็นจะมีแขนงเส้นประสาทเล็กๆอยู่ทำหน้าที่รับส่งสัญญาณความรู้สึกของข้อเท้าขณะที่ข้อเท้ามีการเคลื่อนไหว และเมื่อเอ็นได้รับความเสียหายก็จะมีแขนงเส้นประสาทบางส่วนเสียหายไปด้วย จึงทำให้การรับรู้ความรู้สึกของข้อเท้าช้าลง กว่าจะรู้ตัวว่าข้อเท้ากำลังจะพลิกก็ทำให้ข้อเท้าพลิกเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั่นเอง
ข้อเท้าแพลงแบ่งระดับการบาดเจ็บเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับ 1 : ข้อเท้าแพลงชนิดไม่รุนแรง คือ เอ็นถูกดึงหรือยืดมากเกินไป ทำให้เอ็นบาดเจ็บ แต่เส้นใยของเอ็นไม่ฉีกขาด มีอาการปวด บวม แต่น้อย
ระดับ2: ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรงปานกลาง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นบางส่วน ทำให้ข้อเท้ามีความมั่นคงลดลง มีอาการปวด บวม เฉพาะที่ และอาจมีเลือดคั่ง
ระดับ3 : ข้อเท้าแพลงชนิดรุนแรง คือ มีการฉีกขาดของเอ็นข้อเท้าทางด้านนอกหมดทั้ง 3 เส้น ทำให้ข้อเท้าสูญเสียความมั่นคง มีอาการปวด บวมมาก และมีเลือดคั่ง อาจต้องผ่าตัด
อาการและอาการแสดง
โดยทั่วไปอาการของข้อเท้าแพลงส่วนใหญ่จะพบว่ามีอาการเจ็บปวด ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรง และเจ็บเสียวบริเวณที่เอ็นยืดหรือฉีกขาด ถ้ารุนแรงมากจะรู้สึกเหมือนข้อฉีกหรือมีเสียงดังในข้อ หลังจากอุบัติเหตุ 1 วันจะมีอาการบวมตามมา (ในกรณีไม่รุนแรง) แต่อาจมีอาการบวมทันทีหากมีการฉีกขาดของเอ็น เห็นเป็นกระเปาะชัดเจน ต่อมาผิวหนังจะเปลี่ยนจากสีแดงเป็นเขียวคล้ำและจะค่อย ๆ จางหายไปใน 3 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังอาจพบว่าข้อเท้ามีความมั่นคงลดลงได้
การดูแลเบื้ยงต้น เมื่อพบว่าตัวเองเป็นข้อเท้าแพลงสิ่งแรกที่ต้องทำคือ พักการใช้เท้า นอนยกขาข้างที่มีปัญหาสูงขึ้นกว่าลำตัวเพื่อลดอาการบวม ประคบนํ้าแข็งเพื่อลดการปวดบวมและอักเสบ และใส่สนับข้อหรือพันข้อเท้า
สิ่งที่ห้ามทำอย่างเด็ดขาดเมื่อบาดเจ็บ คือ 1) ห้ามประคบร้อน 2) ห้ามนวดคลึง บริเวณที่ปวด เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ 3) ห้ามทายานวดที่ให้ความรูัสึกร้อนทั้งสิ้น
การรักษาทางกายภาพบำบัด ในรายที่มีอาการปวดมากและรู้สึกว่าความมั่นคงของข้อเท้าลดลงนั้น แนะนำให้เข้ารับการทำกายภาพบำบัด เพื่อใช้เครื่องมือ laser, ultrasound ในการลดการอักเสบ นอกจากนี้นักกายภาพบำบัดจะแนะนำการพันเทปที่ข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าแพลงซํ้า และแนะนำการออกกำลังกายบริหารข้อเท้าเพื่อเสริมความมั่นคงและลดโอกาสการเกิดข้อเท้าพลิกซํ้าได้ในอนาคต
หากต้องการเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัด หรือสอบถามรายละเอียดในการรักษาฟื้นฟู สามารถสอบถามได้ที่แผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลดอนตูม ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ในเวลาราชการ หรือ โทร 034-381768 ต่อ 240

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น